วันที่สามนี่เริ่มลงทะเบียนที่วัดประยูรวงศาวาส
สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านวันแรก –>สุขกลางใจ ใกล้แค่เอื้อม-วันที่หนึ่ง
สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านวันที่สอง –>สุขกลางใจ ใกล้แค่เอื้อม-วันที่สอง
วันนี้ก็นัดพบกันแต่เช้าอีก แล้วเป็นวันอาทิตย์ด้วย ผมจึงนั่งแท็กซี่ไปแทนการเดินทางเหมือนเมื่อวาน ทำให้ออกเดินทางสายได้นิดหน่อยเก็บแรงได้อีกหน่อย เมื่อวานยังเหนื่อยไม่หายเลย

มาถึงที่วัดก็ตามเวลานัด(07:00) ก็เหมือนเดิมคือไปหาอะไรรองท้องก่อน ออกจากวัดเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสักพักก็จะผ่านตลาดเช้าและร้านสะดวกซื้อ เช้าๆอย่างนี้อากาศยังไม่ร้อน เดินได้เรื่อยๆ

ทานอาหารเช้าเสร็จ ขากลับก็ถ่ายรูปบรรยากาศข้างทางเรื่อยมา ถนนนี้ไม่ได้กว้างนักรถสวนกันยังยาก แต่ข้างทางก็มีบ้านเรือนหลังเล็กๆอยู่ติดกันแน่น ผ่านโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนซางตาครู๊สฯ เช้าๆอย่างนี้ผู้คนยังไม่เร่งรีบกันเท่าไหร่



กลับมาที่วัดก็พบว่าเพื่อนๆมาพร้อมกันเกือบครบแล้ว ผู้จัดก็นิมนต์หลวงพี่มาช่วยให้คำอธิบายและพาพวกเราชมวัด


ที่แรกก็เป็นวิหาร จากนั้นก็ไปเดินดูรอบพระอุโบสถ แล้วก็เขามอหรือเขาเต่าที่ปรับปรุงอย่างสวยงาม จุดสุดท้ายที่ไปชมก็คือพระบรมธาตุมหาเจดีย์ที่ก่อนจะเข้าไปจะต้องผ่านพิพิธภัณฑ์ของวัดเสียก่อน


เข้าไปในพระบรมธาตุเจดีย์แล้วขึ้นไปข้างบน จุดสำคัญของพระบรมธาตุมหาเจดีย์นั้นอยู่ข้างในเจดีย์ เข้าไปจะเห็นเสาครูที่ใช้ค้ำยันยอดเจดีย์ไว้ให้ตั้งตรงซึ่งน่าจะมีที่เดียว ต่างกับเจดีย์อื่นๆ

ภายในบริเวณวัด มีพื้นที่มุมหนึ่งที่จัดเป็นสระน้ำและภูเขาหินจำลองรายรอบไปด้วยต้นไม้ มีรั้วรอบเรียกว่าเขามอ



ออกจากวัดก็เดินตรงไปยังทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา(ซึ่งจะผ่านที่ตั้งของสำนักงานเขต) เลี้ยวซ้ายเดินไปตามทางจะถึงโบสถ์ซางตาครู๊ส แวะเข้าไปถ่ายรูปรอบๆสักพักก็เข้าไปถ่ายรูปข้างใน พอดีมีการซ้อมร้องเพลงอยู่จึงไม่ได้อยู่นานเกรงจะรบกวน

เดินถ่ายรูปไปรอบโบสถ์แล้วก็เดินต่อมายังศาลเจ้าแม่กวนอิมหรือศาลเจ้าเกียนอันเกง ที่ผู้ดูแลศาลเจ้าได้กรุณามาให้คำอธิบาย

ออกจากศาลเจ้าก็เดินทางต่อไปยังวัดกัลยาณ์ จุดนัดพบทานอาหารเที่ยง ก่อนถึงวัดสมาชิกก็ตื่นเต้นกับบ้านโบราณ(ทราบภายหลังว่าชื่อบ้านวินด์เซอร์ ที่เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของ “เรือนแบบขนมปังขิง” หรือเรือนมะนิลา อันเป็นรูปแบบของอาคาร ที่มีการตกแต่งประดับประดาด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลายตามบริเวณหน้าจั่ว ช่องระบายอากาศ ลูกกรงระเบียง และรอบชายคา อันเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5)
ทั้งโบสถ์ซางตาครู๊ส ศาลเจ้าแม่กวนอิม และบ้านเก่าต่างก็อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เราใช้ทางเดินเลียบแม่น้ำเดินไปตามสถานที่ต่างๆได้อย่างสะดวก เมื่อผ่านบ้านไม้เก่าไปก็สามารถเดินไปถึงวัดกัลยาณ์ได้เลย
วันนี้เดินน้อยกว่าเมื่อวานและไม่ค่อยมีแดด แต่อากาศอบอ้าว มาถึงวัดกัลยาณ์ด้วยเหงื่อเต็มตัวอีกตามเคย ทานข้าวหมกไก่ที่ทางทีมงานอสท.เตรียมไว้ให้จนหมด นั่งพักตากลมจนเหงื่อเริ่มแห้งก็ออกเดินสำรวจวัดเพราะยังไม่ถึงเวลานัดหมาย
ผมมุ่งหน้าไปยังพระอุโบสถก่อนเลย เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะมากราบหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งก็ได้กราบและทำบุญด้วย ตอนนี้รอบๆอุโบสถกำลังบูรณะ มีรั้วสังกะสีกั้นอยู่โดยรอบ เลยไม่สะดวกที่จะเดินไปถ่ายรูปสักเท่าไหร่


ออกจากวัดกัลยาณ์ก็เดินย้อนกลับไปทางเดิมเข้าทางซอยเล็กๆหน้าโบสถ์ซางตาครู๊ส เดินลัดเลาะไปตามทางแคบก็มาผ่านหลังบ้านวินเซอร์ สมาชิกก็ขอเข้าไปดูข้างในแต่เจ้าของบ้านไม่อนุญาตจึงเดินต่อไป
เดินมาไม่นานนักก็ถึงบ้านจันทภาพเป็นบ้านเล็กๆที่อยู่ในชุมชนนี้สร้างมานานแล้วกว่าร้อยปี เจ้าของบ้านให้พวกเราได้ชมชั้นบน และชี้ร่องรอยกระสุนสมัยกบฏแมนฮัตตันที่ตกเข้ามาและเก็บรักษาไว้
ข้อมูลบ้านจันทภาพเพิ่มเติมจาก Facebook เจริญเบิกฟ้า ไทยจีน 24 เมษา 2018
เรือนจันทนภาพ เรือนไทยวิคตอเรีย เป็นเรือนเครื่องสับจั่วจอมแห อายุกว่า ๑๒๐ ปี ในย่านกุฎีจีน เป็นเรือนไม้สักทอง หน้าจั่วรูปแสงอาทิตย์ ไม้กระดานหน้าศอก(กว้าง ๕๐ ซ.ม.) เสาไม้ตะเคียน ประดับด้วยแกะสลักลวดลายดอกพุดตานแบบจีน ที่หย่องหน้าต่างและซุ้มประตู ตกแต่งภายในด้วยตู้สูงจรดเพดาน
คุณจารุภา จันทนภาพ(ป้าแดง) ผู้ดูแลเรือนจันทนภาพ เล่าว่า เรือนนี้รื้อจากเมืองจันทบุรีมาปลูกสร้างในชุมชนกุฎีจีน เป็นเรือนไทยวิคตอเรีย สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพรุจลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สังเกตได้จากวอลเปเปอร์ผนังในตู้
ปัจจุบันหน้าต่างบานหนึ่งปิดไป เนื่องจากแรงกระสุนและระเบิดจากเหตุการณ์“กบฏแมนฮัตตัน” นอกจากนี้ยังปรากฏรอยกระสุนในบริเวณอื่นของบ้าน ซึ่งในครั้งนั้น คุณประสาท จันทนภาพ(คุณพ่อหลุยส์)และชาวชุมชนกุฎีจีน ได้เปิดบ้านให้ความช่วยเหลือประชาชน ทหาร ตำรวจ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกัน แสดงถึงไมตรีจิตของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
กบฏแมนฮัตตัน
แม้กบฏวังหลวงจะยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยรอมชอมไปแล้วก็ตาม กลิ่นไอของการกบฏก็ยังมีท่าทีอยู่เสมอ เพียงยังรอโอกาสเท่านั้นเอง โดยไม่มีใครคาดฝัน
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุด“แมนฮันตัน” ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาคอยให้แก่ไทย ตามโครงการว่าด้วยการช่วยเหลือร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยรัฐบาลจะได้รับเรือขุดนี้ไปใช้ในการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา พิธีอันทรงเกียรติเพื่อรับเรือขุดแมนฮัตตันนี้ กระทำกันที่ท่าราชวรดิตถ์ ได้มีทูตานุทูตของประเทศต่างๆ ได้ร่วมเป็นเกียรติเป็นจำนวนมากและโดยที่มิได้ตระเตรียมการป้องกันตัวเลยแม้แต่น้อย
ภายหลังจากพิธีรับมอบเรือเรียบร้อยแล้ว จอมพล ป. ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปชมเรือแมนฮัตตัน เมื่อย่างเหยียบขึ้นเรือ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งพร้อมปืนกลมือ ภายใต้การนำของ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย ก็ปราดเข้าประชิดตัวจอมพล ป. และบังคับให้ไปลงเรือยังกองเรือรบ ท่ามกลางการตกตลึงของบรรดาทูตานุทูตต่างประเทศ และผู้ติดตามจอมพล ป. ทั้งหมดได้แต่มอง นาวาตรี มนัส จารุภา นำตัวจอมพล ป. ไปยังเรือรบศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นจอดลอยลำอยู่ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา
ในการที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เข้าทำการเกาะกุมคุมตัวจอมพล ป. ไว้นั้น ดูเหมือนว่าจะมีความประสงค์จะเอาตัวจอมพล ป. เป็นประกัน ในการตั้งข้อเรียกร้อง ในทางการเมือง ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป คณะรัฐมนตรีได้เปิดประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ว่าในกรณีใดๆจากการเรียกร้อง รัฐบาลจะไม่อนุโลมตามด้วยประการใดๆทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังได้มีการลงมติให้ปราบปราม พวกกบฏด้วยความรุนแรงและเด็ดขาดอีกด้วย ต่อมารัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ ประกาศให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การเรียกร้องใดๆของฝ่ายกบฏนั้น ทางรัฐบาลจะไม่ยินยอมด้วยประการทั้งปวง และยังได้ประกาศให้พวกกบฏปล่อยตัวจอมพล ป. ให้เป็นอิสรภาพโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่ปล่อยจอมพล ป. ทางรัฐบาลจะจัดการโดยเด็ดขาดและรุนแรงต่อไป
คำแถลงการณ์ไม่เป็นผล ฝ่ายทหารเรือไม่ยอมปล่อยตัวจอมพล ป. เพราะมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การควบคุมตัวจอมพล ป. ไว้เป็นประกันนั้น จะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี และยังเข้าใจต่อไปอีกว่า คงจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ในขณะที่จอมพล ป. ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในอารักขาของทหารเรือ
แต่ผิดถนัด คณะรัฐประหารมิได้มีความห่วงใยกับชีวิตของจอมพล ป. แม้แต่น้อย ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวจอมพล ป. นั้นเกือบจะไม่มีอยู่ในคณะรัฐประหารแล้ว ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงได้ส่งกำลังรบเข้าปราบปรามทหารเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การต่อสู้เกิดขึ้น และทหารบกสามารถยึดสถานที่สำคัญๆไว้ได้ และตีทหารเรือแตกกระเจิงไป จนไม่สามารถจะควบคุมการต่อสู้ไว้ได้ จึงพากันหลบหนีไปอย่างอลหม่านสับสน
แม้ว่าทหารบกจะปราบปรามทหารเรือแตกพ่ายไปได้แล้วก็ตาม สำหรับทหารเรือบนเรือรบหลวงศรีอยุธยา อันมีนาวาตรีมนัส จารุภา เป็นผู้บังคับการและคุมตัวจอมพล ป. ไว้นั้น ยังไม่ยอมปล่อยตัวให้เป็นอิสรภาพ เพราะยังมั่นใจว่า ตราบใดที่จอมพล ป. ยังถูกควบคุมตัวอยู่บนเรือแล้ว คณะรัฐประหารคงจะไม่กล้าทำการรุนแรง แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะจอมพล ป. แทบจะไม่มีอิทธิพลใดเลยต่อคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารมิได้ให้ความสำคัญแก่จอมพล ป. เหมือนวันแรกแห่งการรัฐประหาร เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเอาจอมพล ป. เป็นเครื่องมือ เพราะระหว่างนั้นการรัฐประหารทำท่าจะล้มเหลว เมื่อจอมพล ป. มาปรากฏตัวเหตุการณ์จึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน นั้นเอง รัฐบาลได้ส่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศมาทิ้งระเบิดรอบๆ เรือรบหลวงศรีอยุธยา เพื่อเป็นการคุกคามให้ทหารเรือปล่อยจอมพล ป. แต่นาวาตรีมนัส ยังยืนกรานที่จะไม่ยอมปล่อยจอมพล ป. จนกว่าจะมีการเจรจา คณะรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจจะทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพล ป. และความเสียหายที่จะเกิดแก่เรือรบหลวงศรีอยุธยา
เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ภายในไม่กี่วินาทีเรือรบหลวงศรีอยุธยาก็เริ่มเอียง ภายในเรือรบหลวงศรีอยุธยาเกิดการโกลาหลวุ่นวาย ทหารเรือบางส่วนพากันกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายเข้าหาฝั่ง โดยมีทหารเรือคนหนึ่งพยายามที่จะช่วยชีวิตจอมพล ป. ให้กระโดดน้ำหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด สำหรับนาวาตรีมนัส จารุภา เมื่อเอาตัวรอดมาได้แล้วก็หนีออกนอกประเทศ โดยขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในเขมร
หลังจากกบฏแมนฮัตตันแล้ว กองทัพเรือได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จนเกือบจะกล่าวได้ว่ากองทัพเรือนั้นไม่มีอิทธิพลใดอีกแล้ว ทั้งนี้เพราะตัวจักรสำคัญๆ ในกองทัพเรือให้ความสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และมีทรรศนะจัดระบบการเมืองแนวโซเซียลลิสต์
รัฐบาลได้ส่งพวกของคณะรัฐประหารที่วางใจได้ เข้าสวมตำแหน่งสำคัญๆ ไว้โดยสิ้นเชิง ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถูกปลดออกจากตำแหน่งหมด เมื่อพวกของนายปรีดีในกองทัพเรือหมดอำนาจลง อิทธิพลในทางการเมืองของนายปรีดี ก็หมดลงไปด้วย
อ้างอิงจาก : เหตุการณ์ทางการเมือง ๔๓ ปีแห่งระบบประชาธิปไตย : โดย วิเทศกรณีย์

ร่ำลาท่านเจ้าของบ้านแล้วก็เดินลัดเลาะไปตามตรอกแคบๆ เพื่อไปดูเขาทำขนมฝรั่งกุฎีจีนอันเลื่องชื่อ
เจ้าของร้านก็ใจดีสาธิตการทำขนมให้พวกเราดูเป็นรอบที่สอง (เนื่องจากพื้นที่ภายในร้านไม่กว้างพอจะรับรองพวกเราได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน พวกเราจึงถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม สลับกันไปตามจุดต่างๆ)

ก่อนออกจากร้านก็ช่วยกันอุดหนุนขนมโบราณนี้หลายถุง

เราไปหยุดพักกันที่พิพิทภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ซึ่งตอนนี้ส่วนที่เป็นพิพิทธภัณฑ์(ชั้นสอง)อยู่ระหว่างจัดเตรียมอยู่ยังไม่เรียบร้อย แต่ก็มีเครื่องดื่มเย็นๆจำหน่ายแก้ร้อน
จุดสุท้ายของวันนี้และกิจกรรมครั้งนี้คือมัสยิดต้นสน*

เดินออกมายังถนนอรุณอัมรินทร์แล้วข้ามสะพานอนุทินสวัสดิ์ไปก็ถึงเลย
ท่านอิหม่ามได้กรุณามาให้คำอธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและความสำคัญของมัสยิดนี้

พวกเราได้มีโอกาสดูการละหมาดที่นี่ด้วย

สถานที่สำคัญของมัสยิดนี้ก็คือกูบู(ที่ฝังศพ) ซึ่งที่นี่เป็นที่ฝังศพของจุฬาราชมนตรีด้วย

จุดนี้คือจุดสุดท้ายของการอบรม หลังจากขอบคุณวิทยากรและคณะทำงานของอสท.แล้ว ต่างคนต่างก็หาทางกลับบ้านกัน ผมเดินออกจากมัสยิดย้อนมาทางวัดกัลยาฯ นั่งเรือข้ามฟากหน้าวัดมาที่ท่ามหาราชเพื่อต่อเรือด่วนมาที่ท่าสาธร
ขอขอบคุณคณะทำงานของอสท.ที่จัดกิจกรรมนี้และอยู่ร่วมกับพวกเราตลอดทั้งสามวัน ผมได้เพื่อนใหม่ๆและประสบการณ์ใหม่ๆมากมายทีเดียว
18 January 2017
#สุขกลางใจใกล้แค่เอื้อม #อสทtotheregion #เล่าเรื่องเล่าภาพบันดาลใจ
19 April 2020
*เพิ่มเติมสำหรับ”มัสยิดต้นสน”สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่ https://readthecloud.co/ton-son-mosque-cemetery/?fbclid=IwAR0_e3EHuHTIjm-VYX93dRtAXo07iy4yib8tK451TFY9FoTymgnUfbAHZFY
24 Apr 2020
เพิ่มข้อมูลบ้านจันทภาพและกบถแมนฮัตตัน
Be First to Comment